กองทัพเรือเปิดพิมพ์เขียว 'ยานใต้น้ำ' ลำแรกของไทย หนุนงานวิจัยใต้ทะเล ใช้ปฏิบัติงานซ่อมบำรุงท่อแทนนักประดาน้ำได้ และท่องเที่ยวใต้ทะเล เตรียมพร้อมขึ้นโครงต่อเรือ คาดปลายปีเห็นของจริง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : พล.ร.ต.รศ. พงศ์สรร ถวิลประวัติ นายทหารโครงการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) กระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสร้างยานใต้น้ำลำแรก โดยฝีมือคนไทยว่า
ขณะนี้ทีมงานได้ออกแบบยานใต้น้ำเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมส่งต่อพิมพ์เขียวให้กับ บริษัท อู่กรุงเทพฯ จำกัด นำไปสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบการใช้งานจริง โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการวางกระดูกงู และขึ้นโครงเรือ โครงการสร้างยานใต้น้ำเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนำยานใต้น้ำมาใช้ประโยชน์ในกิจการพลเรือน เช่น การสำรวจแหล่งทรัพยากรใต้น้ำ การสำรวจวิจัยพื้นผิวท้องทะเล การท่องเที่ยว ภารกิจซ่อมแซมโครงสร้างใต้ทะเล เช่น ฐานแท่นขุดเจาะ ท่อใต้ทะเล และสายเคเบิลใต้น้ำ เป็นต้น โดยพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง จากการสนับสนุนของสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้งบประมาณโครงการ 30 ล้านบาท "กองทัพเรือมีศักยภาพในการพัฒนาเรือผิวน้ำได้เอง ดังนั้น การพัฒนายานใต้น้ำมีความเป็นไปได้ ในส่วนที่เสี่ยงต่ออันตรายและเราไม่สามารถพัฒนาได้เอง จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทสร้างยานใต้น้ำ ประเทศอังกฤษ " นายทหารโครงการ กล่าว ระบบหลักของยานใต้น้ำขนาดเล็กแบ่งออกเป็น 6 ระบบ คือ ระบบตัวเรือรับแรงกด ระบบออกซิเจนสำหรับการหายใจ และระบบฟอกอากาศ ตรวจจับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ขณะอยู่ใต้น้ำ ระบบการขึ้นลงของยานด้วยถังบัลลาสต์ควบคุมด้วยแรงดันลม และ โซลิด บัลลาสต์ที่ใช้ตะกั่วช่วยถ่วงน้ำหนัก “ยานใต้น้ำ คล้ายกับเรือดำน้ำย่อส่วน แต่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมาก ส่วนเรือดำน้ำมีระบบควบคุม วิทยุสื่อสาร ระบบตรวจจับคลื่นเสียง” นายทหารโครงการ กล่าว คณะวิจัยได้กำหนดขนาดมิติ ตลอดจนขีดความสามารถของยานใต้น้ำที่จะดำเนินการสร้างให้ลำเรือมีขนาดความยาว 11 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางรอบยาน 1.8 เมตร ระวางน้ำหรือน้ำหนักประมาณ 27 ตัน ความเร็วใต้น้ำประมาณ 5 นอต ขีดความสามารถปฏิบัติการน้ำลึกไม่เกิน 50 เมตร บรรทุกลูกเรือ 3 คน ระยะเวลาปฏิบัติการใต้น้ำ 3 - 5 ชั่วโมง “แม้กองทัพเรือได้ปลดระวางเรือดำน้ำไปเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว แต่การพัฒนาต้นแบบยานใต้น้ำจะเป็นองค์ความรู้ในการสร้างยานใต้น้ำจะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนายานใต้น้ำขึ้นใช้เองได้ในประเทศ โดยมีราคาถูกลงเมื่อเปรียบเทียบกับนำเข้า แม้อุปกรณ์บางส่วนจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ระบบวิทยุสื่อสารใต้ทะเล ระบบควบคุมใบจักร” นายทหารโครงการ กล่าว ปัจจุบันยานใต้น้ำอยู่ระหว่างการสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปี 2551 จากนี้จะต้องนำไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และระบบควบคุมอีกประมาณ 4-5 เดือน ต้นแบบของยานใต้น้ำเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะส่งต่อให้กับหน่วยงานให้ทุนเพื่อนำไปพิจารณาการใช้ประโยชน์ต่อไป จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น