ึึ7 เมษายน พ.ศ. 2551
ตอบรับกระแสงานแอนิเมชันและเกมเฟื่อง เตรียมการผลิตนักแอนิเมชันและนักพัฒนาเกมมืออาชีพป้อนตลาดโลก
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
มหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดเกมรุกยุคดิจิทัล เปิดคณะดิจิทัลมีเดีย (School of Digital Media) ในปีการศึกษา 2551 นี้ รุดผลิตบุคลากรมืออาชีพป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ แบบครบกระบวนการ พร้อมทุ่มทุนสร้างห้องแล็บตัดต่อใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับนโยบายของรัฐบาลที่หวังปั้นแอนิเมชันและเกมไทยเป็นหัวหอกสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
รองศาสตราจารย์ ดร. สุชาย ธนวเสถียร คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เผยถึงวิสัยทัศน์ ว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ของไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก และแรงงานของไทยถือว่าเป็นแรงงานที่มีคุณภาพเมื่อเทียบกับคนในวงการฮอลลีวูด และเป็นที่จับตามองของตลาดโลก
ทั้งนี้ การเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวเห็นได้จากการใช้แอนิเมชันในสื่อเอนเทอร์เทนต่างๆ มีความถี่ให้เราพบเห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ความสมจริงเหล่านั้น ล้วนต้องการใช้ฝีมือจากบุคลากรที่ชำนาญงานโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่ง
เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ แอนิเมชันและเกม จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชี้ว่าสำหรับแอนิเมชันนั้น ขณะนี้มูลค่าตลาดมีสูง ถึง 2.5 พันล้านบาท ส่วนเกมอยู่ที่ 6 พันล้านบาท จะเห็นได้ว่าตลาดยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก”
ดร.กมล จิราพงษ์ รองคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและหัวหน้าสาขาดิจิทัลอาร์ตส์ กล่าวเสริมว่า “การเรียนการสอนของคณะดิจิทัลมีเดียมีจุดเด่นคือ นักศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ได้ครบกระบวนการทำงานจริง
ของทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ ดังนั้นคณะใหม่ของเราจึงแบ่งสอน 2 สาขา เมื่อเรียนหรือมีโครงการต่างๆ
ทั้งสองสาขา ก็จะทำงานร่วมกันจนชิ้นงาน เสร็จเป็นรูปธรรมเหมือนระบบการทำงานจริงๆ สาขาที่ว่านี้ ได้แก่
สาขาดิจิทัลอาร์ตส์ และสาขาแอนิเมชันและเกม ซึ่งทั้งสองสาขาล้วนมีความโดดเด่นทางสายอาชีพกันคนละด้านโดยดิจิทัลอาร์ตส์ เน้นในเรื่องของการออกแบบและการสร้างสรรค์ให้ภาพออกมาสวยสมจริง ส่วนแอนิเมชัน
และเกม เน้นในเรื่องของการสร้างโปรแกรม ซึ่งทั้งสองสาขาเราคิดว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องนำมาเรียนรวมกัน เพราะนักศึกษาจะได้เข้าใจ และคุ้นเคยถึงระบบการทำงานจริง การเรียนในลักษณะนี้ ยังมีจุดเด่นอีกข้อ
คือ เป็นการปลูกฝังการทำงานแบบทีมเวิร์ค ทั้งยังเรียนรู้ได้รอบด้านและเข้าใจถึงกระบวนการทำงานจริง มหาวิทยาลัยศรีปทุม ถือว่าเป็นที่แรกในประเทศไทย ที่เปิดให้มีการเรียนการสอนในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ แบบครบวงจร”
ดร.กมล กล่าวเพิ่มว่า “นอกจากนี้เรายังมีการลงทุนด้านห้องแล็บ เช่น Animation Lab, Interactive Lab, Media Lab, Think Lab ประกอบด้วยคอมติวเตอร์ระดับเวิร์คสเตชันกว่า 150 เครื่อง พร้อมด้วย ซอฟต์แวร์ชั้นสูงในการทำงานด้านคอมติวเตอร์กราฟิกและอุปกรณ์มัลติมีเดียอย่างครบครัน นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของทางมหาวิทยาลัย ที่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน ด้านดิจิทัลมีเดียที่ทันสมัยและครบครัน แห่งแรกในเอเชีย
เรากล้าพูดว่า เราลงทุนให้กับคนที่เรียน ทุ่มเทให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ อย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของทางรัฐบาลอีกด้วย”
นอกจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว ทางคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ยังเลือกเฟ้นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนคณาจารย์ที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ด้านความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นเฉพาะทางในแวดวงแอนิเมชันและเกมมาถ่ายทอดแก่นักศึกษาโดยเฉพาะ
“ปริญญาของคณะดิจิทัลมีเดีย ทั้งสองสาขายังมีความแตกต่างกันเพื่อบ่งบอกคุณลักษณะที่โดดเด่นทางวิชาชีพของบัณฑิตอย่างชัดเจน ได้แก่ สาขาดิจิตอลอาร์ตส์ เรามอบปริญญาตรีด้าน ‘ศิลปกรรมศาสตรบัณทิต’ ส่วนสาขาแอนิเมชันและเกมนั้น จะได้รับปริญญาตรีทางด้าน ‘วิทยาศาสตรบัณฑิต’ ทั้งนี้ เพื่อการตอบรับของตลาดแรงงานที่ตรงกับสาขาวิชาที่นักศึกษาได้เล่าเรียนมาอย่างแท้จริง” ดร.กมล กล่าวทิ้งท้าย
ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม วางแผนจัดเวิร์คช็อปสำหรับกลุ่มนักเรียนที่สนใจว่า การเรียนการสอนของคณะนี้เป็นอย่างไร ในระหว่างวันที่ 26 – 27 เมษายน 2551และวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2551 ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ 02- 579-1111
วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น