ชนา ชลาศัย
เมื่อพูดถึง "สมาธิ" บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องน่าเบื่อ คร่ำครึ เห็นเป็นเรื่องของคนแก่ หรือพระ ทั้งที่ในปัจจุบันชาวตะวันตกให้ความสนใจการทำสมาธิกันมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการแพทย์ ที่มีการทำวิจัยเรื่องการทำสมาธิรักษาโรคภัยออกมามากมายนับพันโครงการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือศาสตร์ "สมาธิบำบัด" (Meditation)
หนังสือ "สมาธิบำบัด กำจัดได้ทุกโรค" โดย น.พ.ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ (โครงการดั๊บเบิ้ล เอ สื่อสร้างปัญญา) ให้ความรู้ว่า งานวิจัยเกี่ยวกับการใช้สมาธิในการรักษาโรคเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน
ช่วงแรกๆ เป็นงานวิจัยทางจิตเวช เกี่ยวข้องกับการรักษาภาวะเครียดเป็นส่วนใหญ่ และพบว่าการทำสมาธิหรือการทำใจให้สงบนิ่ง ช่วยลดภาวะเครียดได้
ต่อมาจึงมีการนำสมาธิไปประยุกต์ใช้บำบัดโรคต่างๆ ที่สัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรคนอนไม่หลับ โรคแผลในกระเพาะอาหารอันเนื่องจากความเครียด โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
ผลทดลองปรากฏว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น การทำสมาธิบำบัดจึงเริ่มกลายเป็นการแพทย์ทางเลือก ต่อมาถูกนำไปใช้ร่วมกับการบำบัดโรคต่างๆ ที่เรื้อรัง เช่น เอดส์ มะเร็ง ภูมิแพ้ เบาหวาน ฯลฯ พบว่าการฝึกสมาธิทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น
และต่อมาก็มีการศึกษาการทำสมาธิบำบัดในโรคอื่นๆ อีกมาก เช่น โรคผิวหนัง และการสมานแผลผ่าตัดหลังการทำศัลยกรรม
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องสมาธิของตะวันตกเป็นการศึกษาทางอ้อม ไม่ได้มุ่งที่ไปที่เรื่องที่ "จิต" โดยตรงเหมือนชาวตะวันออก
แต่เป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมที่มองเห็นและสัมผัสได้ เช่น ลักษณะของลมหายใจ ความดันโลหิต ตลอดจนคลื่นสมองไฟฟ้า ระดับฮอร์โมน และสารเคมีบางอย่างในตัวซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์ไฟฟ้าในการสังเกต
สมาธิบำบัด อาจจะถูกมองเป็นเรื่องงมงาย แต่งานวิจัยหลายชิ้นทำให้วงการแพทย์เริ่มมองเห็นแนวโน้มที่ดีและเห็นประโยชน์ของการฝึกสมาธิ รักษาโรค
ทุกวันนี้วงการแพทย์ของไทยเราเองก็เริ่มตื่นตัวทดลองนำระบบสมาธิบำบัดเข้ามาใช้ คือ ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ต้นสังกัดของ น.พ.ชูฤทธิ์ เต็งไตรสรณ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นั่นเอง
ปัจจุบันงานสมาธิบำบัดของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ทดลองจัดตั้งศูนย์สมาธิบำบัดขึ้นมาแล้วจำนวน 97 แห่ง ตามสถานพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โรงพยาบาลชลประทาน สถานีอนามัยโพธิ์ใหญ่ จ.อุบลราชธานี และอีกหลายๆ สถานพยาบาล
การมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย อยู่ใกล้ๆ ตัวเรานี่เอง ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน
เป็นรากฐานที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตตะวันออกของเรานี่เอง ซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานกว่าสองพันปี
ที่มา
หน้า 23
http://www.matichon.co.th/khaosod/vi...MHdOeTB4TlE9PQ==
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น