บทความนี้คัดลอกจาก ว. วชิรเมธี facebook
ทุกปรากฏการณ์ ล้วนผ่านเข้ามาอย่างมีความหมาย
ในทางพุทธศาสนา เราถือกันว่าโลกนี้ “ไม่มีความบังเอิญ”
เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในชีวิตของเรา ล้วนถูกออกแบบมาอย่างมีความหมาย ในมิติใดมิติหนึ่งเสมอ ปัญหาก็คือ เราจะเข้าใจความหมายที่ว่านั้นหรือเปล่า ? คนบางคน กว่าจะเข้าใจความหมายที่เป็น “สารพิเศษ” ที่ถูกส่งมาพร้อมกับบางปรากฏการณ์ ก็ต้องรอให้ผ่านวันเวลาไปแล้วกว่าครึ่งชีวิต แต่คนบางคนสิ้นชีวิตไปแล้วหลายปี คนรุ่นหลังจึงมองเห็นสารพิเศษที่ถูกส่งผ่านตัวเขา
เมื่อคานธีเรียนจบกฎหมายใหม่ ๆ มาจากอังกฤษ เขาเดินทางไปทำงานที่แอฟริกาใต้ ระหว่างเดินทาง คานธีซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่ง แต่พอโดยสารไปได้เพียงครึ่งทาง เขาถูกพนักงานไล่ลงจากรถไฟเหมือนไม่ใช่คน เหตุผลที่คานธีได้รับการปฏิบัติอย่างปราศจากมนุษยธรรมมีเพียงเรื่องเดียวนั่นก็คือเรื่อง “สีผิว”
การถูกไล่ลงจากรถไฟคราวนั้น ทำให้คานธีได้ก้าวขึ้นสู่รถไฟอีกคันหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของคานธีไปอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ “รถไฟสายอิสรภาพ”
เป็นอิสรภาพจากความเขลาของมนุษยชาติ ที่วัดคุณค่าของคนกันที่สีผิว เป็นอิสรภาพจากการที่อินเดียถูกสะกดจากกองทัพของอังกฤษมากว่าร้อยปี และเป็นอิสรภาพจากการถูกพันธนาการเอาไว้ด้วยความกลัวที่คนดำถูกคุกคามโดยคนขาว
นับแต่เหตุการณ์ถูกจับโยนจากรถไฟคราวนั้น คานธีเริ่มเกิดการตระหนักรู้ขึ้นมาว่า ตัวเขาเอง ซึ่งได้รับการศึกษามาเป็นอย่างดีจากตะวันตก ทั้งยังมีสถานภาพทางสังคมเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางชั้นสูงเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้นยังมีรากร่วมทางวัฒนธรรมกับพวกผิวขาว คือ เป็นเนติบัณฑิตจากอังกฤษ เขาเองมีรสนิยมวิไลในการดำเนินชีวิต นิยมสวมสูท ผูกเน็คไท ในขณะทำงาน แต่แล้ว ในวันที่เขาถูกไล่ลงจากรถไฟสายเหยียดผิว วันนั้น กลับเป็นวันที่ “เปลือกของชีวิต” ที่ห่อหุ้มตัวเขามาทั้งหมดถูกสลัดทิ้งไป เขาเริ่มได้คิดขึ้นมาว่า อารยธรรม ไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้า ไม่ใช่เรื่องของการมีรสนิยมวิไลในการกิน อยู่ ดื่ม กิน และการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่อารยธรรมหมายถึงระดับความสูงต่ำของคุณธรรมในหัวใจคนต่างหาก
นับจากเหตุการณ์ถูกไล่ลงจากรถไฟวันนั้น คานธี ไม่ใช่นักกฎหมาย ผู้ปรารถนาจะมีชีวิตรอดด้วยการเป็นนักกฏหมายอีกต่อไป แต่เขาได้ตั้งปณิธานใหม่ว่า เขาจะเป็นนักกฎหมาย ที่ใช้กฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดส่วนตัวเหมือนที่คิดเอาไว้ตั้งแต่ต้นอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นเพื่อความอยู่รอดร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของมนุษยชาติทั่วโลกร่วมกันโดยถ้วนหน้า
ทันทีที่เมล็ดพันธุ์แห่งอิสรภาพผลิบานขึ้นมาในใจของคานธี เมล็ดพันธุ์แห่งอิสรภาพนับแสนนับล้านเมล็ดของมนุษยชาติผู้เป็นพี่น้องผิวสีของเขาในอินเดีย ในแอฟริกาใต้ ในสหรัฐอเมริกา ในละตินอเมริกา ก็ได้รับการรดน้ำพรวนดิน และเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งผลิบานไปทั่วโลก ในที่สุดเมื่อโลกย่างเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ผู้ชายผิวสีอย่างบารัค โอบาม่า ก็สามารถเป็นประจักษ์พยานของหน่ออ่อนแห่งอิสรภาพทางผิวสี ที่สามารถแทงเสียดยอดขึ้นมาเป็นชนชั้นนำในเวทีโลกได้อย่างสง่างามและเขากำลังทำให้ชาวโลกก้าวข้ามการประเมินคุณค่าของความเป็นคนจากสีผิวมาสู่การประเมินคุณค่าของคนจากความเป็นคนจริงๆ กันได้เสียที
หากเมื่อกว่าศตวรรษที่แล้ว นักกฏหมายหนุ่มผิวสีที่ชื่อคานธี ไม่ถูกไล่ลงจากรถไฟที่แอฟริกาใต้
ป่านนี้ คนผิวสีจะมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในระดับเดียวกับคนผิวขาวหรือไม่
ป่านนี้ อินเดียจะได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วหรือไม่
ป่านนี้ โลกจะมีรัฐบุรุษที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งโลกที่ชื่อคานธีหรือไม่
เมื่อตอนที่สตีฟ จ๊อบส์ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแอปเปิล แมคอินทอช และไอพอต นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกทุกวันนี้ ยังเป็นนักศึกษาหนุ่มอยู่นั้น เขารู้สึกไม่มีความสุขกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย จ๊อบส์ ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยถึงสองครั้ง การตัดสินใจลาออกครั้งแรก ทำให้เขาเกิดคำถามว่า เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของอารมณ์ชั่ววูบหรือเปล่า เพื่อพิสูจน์ตรรกะเช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจไปสมัครเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง แต่แล้วเมื่อเรียนไปได้สักพัก เขาก็ค้นพบว่า การตัดสินใจครั้งแรกของเขานั้นถูกต้องแล้ว เพราะในมหาวิทยาลัย เขาได้เรียนแต่วิชาที่ตัวเองไม่มีความรักและและยิ่งเรียนความสุขในชีวิตยิ่งหดหาย วันหนึ่งจ๊อบส์ จึงตัดสินใจหันหลังให้กับมหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างเดินลงจากตึกมหาวิทยาลัย จ๊อบส์ เดินผ่านห้องเรียนพิเศษห้องหนึ่ง ซึ่งกำลังเปิดสอนวิชา “คัดลายมือ” มีผู้ลงทะเบียนเรียนไม่มากนัก วิชานี้ไม่มีเกรด ไม่มีประกาศนียบัตร ใครใคร่เรียนก็เรียน จ๊อบส์เห็นเป็นวิชาแปลกดี จึงเข้าไปนั่งเรียนวิชาคัดลายมือกับเขาด้วย และเมื่อลองเรียนต่อไป เขาก็ค้นพบว่า วิชานี้ ทำให้เขามีความสุข และเมื่อมีความสุขเป็นบำเหน็จอยู่ในตัวเองตลอดเวลาที่ลงทะเบียนเรียน เขาจึงตัดสินใจเรียนวิชานี้ไปจนจบคอร์ส เพื่อนคนหนึ่งถามเขาว่า เขามาเสียเวลาเรียนวิชาที่ไม่มีดีกรี ไม่มีประกาศนียบัตร และมิหน้ำซ้ำยังเป็นวิชาที่มองไม่เห็นว่า จะนำไปทำมาหากินได้อย่างไรทำไม จ๊อบส์ตอบคำถามของเพื่อนด้วยรอยยิ้ม เพราะเขาเองก็ไม่รู้ว่า เขาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ไปทำไม สิ่งที่เขารู้มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ เรียนแล้วมีความสุขที่สุด
อยู่มาวันหนึ่ง จ๊อปส์ ร่วมมือกับเพื่อนคนหนึ่งตั้งบริษัทขึ้นมาตามล่าความฝันของตัวเองที่โรงรถเพียงสองคน เขาและเพื่อนเปิดบริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ยี่ห้อแอปเปิล และทันทีที่แอปเปิลออกวางตลาด ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขากับเพื่อนกลายเป็นมหาเศรษฐี และเมื่อชีวิตเปลี่ยนเส้นทางมาทางนี้แล้ว วันหนึ่งเขาก็ผลิตคอมพิวเตอร์อีกยี่ห้อหนึ่งชื่อแมคอินทอช ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์ด้านสิ่งพิมพ์ที่ดีที่สุดในโลก วันหนึ่งเพื่อนถามเขาว่า แมคอินทอชจะมีอัตลักษณ์แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้อย่างไร จ๊อปส์จึงคิดขึ้นมาได้ว่า แมคอินทอช ต้องเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีฟอนท์ (แบบอักษร) สวยที่สุดในโลก และนาทีนี้เอง ที่เขารู้สึกว่า เวลาของการที่จะได้ใช้วิชา “คัดลายมือ” เดินทางมาถึงแล้ว เขาจึงลงมือออกแบบฟอนท์ยุคแรกของแมคอินทอชด้วยตัวเอง และแน่นอนเขามีพรสวรรค์ในเรื่องนี้อย่างชนิดหาตัวจับได้ยาก ทุกวันนี้ แมคอินทอช เป็นคอมพิวเตอร์ที่ทั่วโลกรู้จัก และชื่อของสตีฟ จอปส์ ก็กลายเป็นชื่อของบุคคลผู้เป็นแรงดลใจแค่คนรุ่นใหม่ไปทั่วโลก ทว่าจอปส์ ไม่เคยหยุดตัวเองอยู่เพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้น เพราะยามนี้เขากำลังเขย่าโลกด้วยนวัตกรรมล่าสุดคือไอพอตที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วทุกอณูของโลกใบนี้
หากคำกล่าวที่ว่า “โลกนี้ไม่มีความบังเอิญ” เป็นความจริงแล้วไซร้ ใช่หรือไม่ว่า เราก็ไม่ควรประหวั่นพรั่นพรึงกับ “บางปรากฏการณ์” (ทั้งในทางที่ดีและร้าย) ที่อุบัติขึ้นมาในชีวิตของเราโดยไม่คาดฝัน เพราะบางทีบางปรากฏการณ์อาจผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา ในฐานะเป็น “ส่วนที่เติมเต็ม” ของชีวิต มากกว่าจะมา “ริบ” เอาบางสิ่งไปจากชีวิตของเรา
ว.วชิรเมธี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น