การคัดกรองและป้องกันโรคมะเร็งเต้านมจึงเป็นงานสำคัญของหมออนามัยที่ต้อง เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีความรู้ และมีแรงจูงใจ ตรวจเต้านมตนเองทุกเดือน ซึ่งการเตรียมความพร้อมในงานดังกล่าวก็คือการติดอาวุธให้กับ อสม.ที่เป็นกำลังหลักของเรา โดยการอบรมให้มีความรู้และฝึกทักษะให้สามารถประเมินการตรวจเต้านมของกลุ่มสตรีเป้าหมายในชุมชนได้
ในปีงบประมาณใหม่นี้ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดเป้าหมายให้สตรีอายุ 30 ปีขึ้นไปได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มากกว่าร้อยละ 80 จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมรับความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและเริ่มตรวจเต้านมตนเองทุกเดือนนะคะ เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และหากตรวจพบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกก็จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ
ซึ่งมีผลการศึกษาของ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า การตรวจเต้านมด้วยตนเอง สามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 50 เลยเทีดียว
มะเร็งเต้านม...จึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด มารู้จักมะเร็งเต้านมกันดีกว่าค่ะ...
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงไทย จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปีพ.ศ. 2550 พบมะเร็งเต้านมมากถึงร้อยละ 40 รองลงมาเป็น มะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 18.6 และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ร้อยละ 6.2 ตามลำดับ
มะเร็งเต้านม พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ผู้ชายพบน้อยกว่าผู้หญิง ถึง 100 เท่าตัว
มะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตมากผิดปกติแบบควบคุมไม่ได้ของเซลล์เนี้อเยื่อเต้านม โดยมีการเปลี่ยนแปลงในสารพันธุกรรมที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์
สาเหตุที่เกิดยังไม่ทราบแน่ชัด มะเร็งชนิดนี้มักเกิดในผู้หญิงเกือบทุกช่วงอายุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ
- อายุที่เพิ่มขึ้น พบมากในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม
- รวมทั้งพบในผู้หญิงที่ไม่มีบุตร มีบุตรช้าหลังอายุ 30 ปี
- มีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 12 ปี
- หมดประจำเดือนช้าหลังอายุ 50 ปี
ที่สำคัญยังพบว่า หากผู้หญิงที่มีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงขึ้น ได้แก่
* ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
* มีไขมันในเลือด หรือเป็นโรคอ้วน เนื่องจากไขมันคลอเรสเตอรอลจะทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
อาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม
มะเร็งระยะเริ่มต้นนั้นมักไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจตรวจพบความผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านม ซึ่งอาจเป็นระยะเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม ดังนี้
* มีก้อนที่เต้านม (พบมากร้อยละ 15 - 20 )
* มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม
* ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ่ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ บางส่วนเป็นสะเก็ด
* หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
* มีเลือดออกจากหัวนม (ร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกจะเป็นมะเร็ง)
* เจ็บเต้านม (มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ แต่ถ้าเจ็บเพราะมีก้อนโตมากแล้ว)
* มีการบวมของรักแร้เพราะต่อมน้ำเหลืองโต
การตรวจเต้านมตนเอง
การตรวจมะเร็งเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พบว่าร้อยละ 80 ของเนื้องอกเต้านมผู้หญิง มักถูกตรวจพบครั้งแรกได้ด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรทำทุกเดือนตั้งแต่วัยสาวจนถึงวัยสูงอายุ ควรทำหลังประจำเดือนหยุดแล้ว 7-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงทำให้ตรวจได้ง่าย สำหรับผู้หญิงที่หมดระดูแล้วหรือได้รับการตัดมดลูก จะเป็นการดีถ้าได้ทำการตรวจเต้านมตนเองทุกวันที่ 1 ของเดือน
วิธีการตรวจ 3 ท่า
ทุกท่าจะต้องบิดลำตัวไปทางซ้ายและขวา สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนัง รอยบุ๋ม รอยนูนของเต้านมหรือสิ่งผิดปกติอื่น ๆ ของเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยมีท่าตรวจดังนี
1. ยืนหน้ากระจก
- ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย
- ยกแขนทั้งข้างเหนือศีรษะ
- ท้าวเอว เกร็งอกเพื่อให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น
- โค้งตัวมาข้างหน้าใช้มือทั้งสองข้างท้าวเอว ดังรูป
2. นอนราบ
- นอนให้สบาย ตรวจข้างขวาให้สอดม้วนผ้าหรือหมอนใต้ไหล่ขวา
- ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อที่จะให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบ ซึ่งจะทำให้คลำง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกของเต้านมจะมีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด ดังรูป
- ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนซึ่งความจริงไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย
3. ขณะอาบน้ำ
- สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก ให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน
- สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประครอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจเต้านมด้านบน
ลักษณะของการคลำ
- ใช้ 3 นิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) คลำเป็นรูปก้นหอยวนจากด้านนอกเข้าหาด้านใน
- คลำแบบดาวกระจาย
- คลำเป็นรูปลิ่ม
*** ที่สำคัญควรคลำให้ทั่วเต้านม จนถึงบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า และใต้รักแร้ เพราะเป็นบริเวณที่พบก้อนมะเร็งได้บ่อยสุด ...
อย่าลืมบีบดูหัวนมทุกครั้งที่ตรวจเต้านมด้วยตนเอง ว่ามีเลือดหรือน้ำออกมาจากหัวนมหรือไม่ เพราะพบได้ร้อยละ 20 ของการมีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนมเป็นมะเร็ง
ระยะของมะเร็งเต้านม
* ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม
* ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
* ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ
* ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
* ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นแล้ว
การดูแลเต้านม
1. โดยทั่วไปอายุ 20 ปีขึ้นไปก็ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว
2. ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคือ 3-10 วัน นับจากประจำเดือนหยุด ส่วนสตรีที่หมดประจำเดือนแล้วให้กำหนดวันที่จดจำง่าย และตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน
3. สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
4. ควรตรวเต้านมตนเองทุกเดือน หากท่านตรวจแล้วไม่มั่นใจ ให้ขอรับคำปรึกษาที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือศูนย์สุขภาพชุมชนใกล้บ้านท่าน
.........$$$$$................!!!!!..................###............^_^........
ไปชมภาพการอบรมอสม. เพิ่มทักษะในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ทีมวิทยากร ...ภาคทฤษฎี
ฟังวิธีการตรวจเต้านมแล้ว มาเริ่มทดลองคลำเต้านมกัน...
สอนวิธีการคลำเต้านมจากหุ่น
ฝึกการคลำเต้านมที่พบความผิดปกติ ..5 ตำแหน่ง...
ท่ายืนคลำขณะอาบน้ำ ..อย่าลืมถูสบู่ให้ลื่นก่อนนะคะ
เอ้า ..คุณป้าอสม. สาธิต การตรวจเต้านมด้วยตนเอง พร้อมอธิบายวิธีการตรวจอย่างละเอียด (เข้มจริง ๆ )
หลังอบรม มอบหุ่นตัวอย่าง เพื่อใช้สาธิตการตรวจเต้านมในหมู่บ้าน
เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ..(ทำงาน) หมู่บ้านละ 1 ตัว (งบน้อยค่ะ)
หลังการอบรมถ่ายรูปร่วมกันตามระเบียบ
ขอบคุณค่ะที่ติดตามจนจบ...
ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีไปนาน ๆ นะคะ
ขอบคุณกำลังมีอาการปวดจี๊ด ๆ มา 4 วันแล้วเป็น ๆ หาย ๆ ว่าจะไปโรงพยาบาลรามาฯ กลัวมาก น้อยแม่ลูก 2
ตอบลบขณะนี้มีอาการปวดที่เต้านมข้างขวาจี๊ด ๆ เป็นระยะ เป็นมาประมาณ 2 วันแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปตรวจ ใช่อาการของมะเร็งเต้านมหรือเปล่าคะ บุคคลที่ไม่ระบุชื่อนี้ไม่แน่ใจว่าจะใช่พี่สาวหรือเปล่า ถ้าใช่ขณะนี้พี่ของณิสได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555
ตอบลบ