วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

หนึ่งความคิด เร็วกี่วินาที

"เราเคยคิดไหมว่า “ความคิด” เร็วเท่าไหร่
มีคนพยายามจะวัดให้ได้ว่า ความคิดนั้นรวดเร็วเท่าไหร่

ซึ่งได้ตัวเลขมาย้อมใจว่าน่าจะ 300 มิลลิวินาที"

เคยตั้งคำถามไหมว่า ความคิดเราเร็วเท่าไหร่
อันนี้ไม่ใช่คิดเลขไว หรือ ตอบปัญหาได้เร็วนะคะ

ถามจริงๆ ว่า เราเคยคิดไหมว่า “ความคิด” เร็วเท่าไหร่
มีคนพยายามจะวัดให้ได้ว่า ความคิดนั้นรวดเร็วเท่าไหร่

ซึ่งได้ตัวเลขมาย้อมใจว่าความคิดของคนเรานั้น
น่าจะมีความเร็วประมาณ 300 มิลลิวินาที
(University of Arizona. "Speed Of
Thought' Guides Brain's Memory Consolidation.
จากเว็บไซต์ ScienceDaily 16 พ.ย. 2550)

หากเทียบกันเป็นภาษาทั่วไปแล้วน่าจะเรียกได้ว่า เสี้ยววินาที
อันที่จริงแล้วหากจะวัดความเร็วก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของความคิดกันก่อนว่า

หากเลือกมองความคิดของสัตว์ที่มีระบบนำประสาทซับซ้อน
และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคิด ซึ่งแตกต่างจากพืชที่มีชีวิต
แต่ไม่มีความคิด

ดังนั้นจึงขอจำแนกความคิดออกเป็นพวก ตามแนวทางคิดแบบหอยๆ ดังนี้
1. คิดโดยสัญชาตญาณ
ความคิดในระดับนี้เป็นความคิดขั้นซับซ้อนน้อยที่สุด
เป็นกระบวนการคิดที่ธรรมชาติมีให้เราเอาตัวรอดให้ได้
ในสถานการณ์เฉพาะหน้า มักเป็นการคิดที่ตรงไปตรงมา
เช่น จับกาน้ำร้อนชักมือออกทันที ไม่ต้องพิรี้พิไร
ชักดีไม่ชักออกดี พาลมือจะกุดเอา

ส่วนใหญ่มักทำให้เจ้าของความคิดเอาตัวรอดได้
แต่หลายคนก็ใช้บ่อยจนเกินงาม
ไปถึงระดับที่ “สิ้นคิด” เช่น ป้า! เหมือนเมื่อวานจานนึง


2. นึกคิด
ความคิดแบบนี้ต้องมีความจำ
หรือจดจำเข้ามาประกอบ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า “สัญญา”
หมายถึง เกิดการรับรู้จากสัมผัสทั้งห้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เกิดเป็นการจดจำ เช่น จำคำศัพท์ เรียกสิ่งของของเด็กๆ จากเดิมที่เรียกของแต่ละชิ้นไม่ถูก
(สื่อออกไม่ได้) เมื่อถูกสอน ก็จะผูกภาพที่เห็นเข้ากับคำศัพท์ที่เรียน
เกิดเป็นความจำ หรือ จดจำขึ้นมาได้

ความคิดแบบนี้ใช้เวลามากขึ้น
เพราะต้องมีการประมวลผล หรือเทียบเคียง
แล้วถึงแสดงกริยาออกมา เช่น เด็กเห็นสิ่งของ ก็เอ่ยชื่อสิ่งของนั้นออกมา

ที่น่าสนใจในความคิดแบบนึกคิดนี้ก็คือ
บางครั้งบางจังหวะกลายเป็น คิดเรื้อรัง หรือ

เรียกให้หวานแหววว่า “คิดถึง”

เช่น ภาพของสาวคนรัก ก็วนเวียนคิดซ้ำไปซ้ำมา
สาวเจ้าไม่ได้อยู่ตรงหน้าแล้ว ก็ยังมีภาพเธออยู่ในใจ
จากหญิงสาว ก็เริ่มกลายเป็นเจ้าหญิง

อีกด้านหนึ่งก็คิดเรื้อรังเหมือนกัน แต่เป็น “คิดแค้น”
เป็นความคิดที่เจ็บปวดไม่เป็นสุข ทั้งที่เรื่องราวต้นเหตุผ่านไป

ภาพร้ายๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ไปมา
อันที่จริงความคิดเรื้อรังแบบนี้เหตุมาจากเรื่องเดียวกัน
คือ ไปกระทบกับจิต เกิดเป็นอารมณ์
หรือ ทางพุทธศาสนา เรียกว่า เกิดสังขาร ขึ้น
จากความคิดที่ไม่เป็นตัว ก็เริ่มเป็นตัวให้ยึดมั่นถือมัน
พาลกลายเป็นทุกข์ไป ซึ่งหากปลดทุกข์ไม่สำเร็จ ก็จะเกิดทุกข์เรื้อรัง
จาก การนึกคิด ที่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องนี่เอง

3. คิดไม่ออก
เอ..อันนี้จะเกี่ยวกับคิดเร็วคิดช้าไหมเนี่ย
คิดไม่ออกนี่ความเร็วของความคิดไม่ได้ลดลงแต่มันจะเริ่มวนไปวนมา

เพราะหาคำตอบไม่เจอ ก็พาลจะคิดวนไปวนมา
วนไปวนมา วนไปวนมา
ส่วนมากมักหาทางออกเจอจากการไปดูความคิดของคนอื่น

เช่น คำตอบทางวิชาการ ก็ไปค้นจากกูเกิ้ล
หรือหนังสือ ไม่งั้นก็ยอมแพ้ให้เขาเฉลย
หรือบอกมาว่าคำตอบคืออะไร

แต่บางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวที่คนอื่นมักมองว่าเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง
จะคิดไปทำซากอะไร ก็มักจะไม่สามารถได้รับคำตอบจากคนอื่นได้

อย่างเก่งก็รับฟัง เมื่อคิดวนไปมาไม่มีคำตอบ
ก็พาลจะนอนไม่หลับ ผุดลุกผุดนั่ง คิดซ้ำคิดซาก

พวกคิดไม่ออกนี้ ก็จะอ่อนเพลีย ละเหี่ยใจ
หงุดหงิด พาลกับคนข้างเคียง

เรื่องราวต่างๆ ก็เลยเลวร้ายลงไปอีก
จากคิดไม่ออก ก็กลายเป็นคิดไม่ตก
รุมเร้านักคิดทั้งหลายต่อไป

คิดเร็ว หรือ คิดช้า ในเชิงผลลัพธ์คงไม่แตกต่างกัน
เพราะขั้นตอนการทำงานของสมองในการปฏิบัติการคิดนั้น
ใช้เวลาไม่นาน แต่การคิดเพื่อให้เกิดการกระทำ

หรือเรียกว่า การตัดสินใจนั้นต่างหากที่ความเร็วช้า มีผลต่อผลลัพธ์
การฝึกฝนให้รู้ทันความคิด เป็นสิ่งที่ยากแต่หากทำได้

ก็จะทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ก้าวผ่านไปสู่ความคิดแบบสัญชาตญาณ
ความคิดที่กระทบอารมณ์พาลไปยึดติดเป็นสังขาร
หรือ วนไปวนมา จนเป็นคิดเหนือเมฆ ที่คิดไม่ตกสักที

แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น