วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

จากจับกังก่อสร้าง สู่เหรียญทองโอลิมปิก

น้องเก๋ ประภาวดี


ความผิดหวัง...โอลิมปิกเกมส์ 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ถึงจะทำให้ชีวิต "น้องเก๋" ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล เซซวนไปบ้าง แต่เหรียญทอง โอลิมปิก 2008 ก็เป็นเครื่องยืนยันถึงจิตใจที่มุ่งมั่นเข้มแข็ง

สี่ปีที่แล้ว เก๋ถามพ่อ... "พ่อ...หนูเลิกเล่นกีฬายกน้ำหนัก พ่อจะว่าอะไรไหม พ่อก็ว่า...ตามใจหนู หนูโตอายุตั้ง 20 แล้ว ตัดสินใจเองได้หมดทุกอย่างแล้ว" คุณพ่อจันทร์แก้ว อายุ 48 ปี กล่าว

นัย ความหมาย พ่อจะว่าอะไรไหม? คนอื่นอาจจะไม่รู้ แต่สำหรับพ่อรู้อยู่เต็มอกว่า เก๋หมายถึง...ถ้าเลิกก็จะไม่มีรายได้มาเลี้ยงพ่อแม่ และน้องๆอีก 3 ชีวิต

ช่วง นั้น พ่อแม่เก๋ยังยึดอาชีพกรรมกรก่อสร้าง มีรายได้รายวัน วันละ 200 บาท แต่เก๋มีรายได้จากการเล่นกีฬา บริหารรายรับให้พอกับรายจ่ายอย่างเต็มที่

เก๋ส่งเงินกลับบ้านทุกเดือน ระยะห่างแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับว่า ครอบครัวเดือดร้อนมากขนาดไหน เฉลี่ยแล้วอาทิตย์...สองอาทิตย์ จะส่งมาทีละ 3,000-4,000 บาท

จริงๆ แล้ว พ่อก็รู้ว่าลูกมีรายได้ไม่ได้มากขนาดนั้น อาศัยว่าเก็บมากกว่าจ่าย เป็นคนไม่ค่อยใช้เงิน ไม่เที่ยว นิสัยตั้งแต่เด็กไม่มีเงิน...ไม่กินก็ได้ ไม่เคยงอแงร้องขอ

ไม่ร้องขอ เพราะรู้ว่าอ้อนไปพ่อแม่ก็ไม่มีเหมือนกัน

"เก๋จึงพูดให้พ่อแม่สบายใจว่า...ไม่ต้องเป็นห่วง เก็บตัวฝึกซ้อม ข้าว ขนม...มีกินทุกมื้อ"

ฐานะยากจนขัดสนเป็นลูกกรรมกรก่อสร้าง แต่ละช่วงชีวิตจึงดำเนินไปอย่างยากลำบาก แต่นิสัยส่วนตัว เก๋เป็นเด็กร่าเริง เข้มแข็งดีมาก

ที่ว่าเก๋นิสัยขี้แง ก็แค่ตอนเด็กๆ อายุ 3-4 ขวบ...เหมือนเด็กทั่วไป

คุณพ่อจันทร์แก้ว บอกว่า ตั้งแต่เก๋เข้าอนุบาล พ่อแม่ต้องออกไซต์ งานรับจ้างต่างจังหวัด มาไกลถึงกรุงเทพฯ ทำได้ 1 ปี ก็ย้ายไประยอง แล้วก็ย้ายไปเรื่อยๆ...ส่วนเก๋มีตากับยายคอยเลี้ยงดู




"ชีวิตจับกัง...กรรมกร ไม่มีวันสบายหาเงินง่าย ใครไม่ทำ... ไม่รู้หรอกว่าลำบากสุดๆ"

ช่วงที่เก๋ยังเล็ก พ่อแม่ทำงานสองแรงแข็งขันมีรายได้คนละ 170-180 บาทต่อวัน

รายได้รวมกันวันละไม่ถึง 400 บาท ไหนจะกินจะใช้ ไหนจะต้องส่งลูก ที่กำลังเรียน ต้องใช้จ่ายอย่างกระเบียดกระเสียร และบ่อยครั้งที่ขอเบิกล่วงหน้า ครั้งละ 1,000 บาท วันที่ขอเบิกค่าแรงล่วงหน้า มักจะเป็นวันที่ 15 ของแต่ละเดือน คุณแม่ภาวลีย์จะเป็นตัวแทนทั้งพ่อและแม่กลับบ้านหาลูก เพื่อเอาเงินไปให้ยายเก็บไว้ใช้จ่าย

"ไม่เบิกล่วงหน้า ก็ไม่มีเงิน...แล้วก็ต้องมาทำงานตามใช้หนี้ เหมือนเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันสิ้นสุด" เก๋ เรียนชั้นประถม ทุกเช้ายายจะมาส่งหน้าปากซอย รอรถโรงเรียน หน้าปากซอยจะมีอู่ซ่อมรถยนต์ เปิดเป็นยิมฝึกซ้อมนักกีฬายกน้ำหนัก เก๋ก็เห็นจนชินตา กระทั่ง เก๋เรียนชั้น ป.4 ก็มีคนในยิม เอ่ยปากชวน...อยู่ว่างๆไม่ได้ทำอะไร ก็มาออกกำลังกายด้วยกัน

" เด็กละแวกบ้านหลายคนก็มาเล่นอยู่ก่อนแล้ว เห็นอยู่กับยาย กลัวเหงา...ก็เลยชวนมาเป็นเพื่อนเล่นกัน ไม่ได้คิดว่าจะเล่นจริงจังจนติดทีมชาติ"

ลูก เก๋โตขึ้นเรื่อยๆ นับวันพ่อกับแม่ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น กัดฟันส่งลูกจนจบ ป.6 จะขึ้น ม.1 ค่าเทอมแพงขึ้น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

"พ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียนอีกแล้ว" พ่อพูดกับเก๋ตรงๆ "ทำยังไงได้ เราอาชีพหาเช้ากินค่ำ ก็ชวนลูกไปทำงานด้วยกันที่กรุงเทพฯ..."

เก๋ผันสถานะจากเด็กนักเรียนเป็นกรรมกรหิ้วปูน ขนอิฐ โครงการก่อสร้างคอนโดฯสูง 4 ชั้น ย่านลาดพร้าว 71 ได้ค่าแรงวันละ 100 บาท ถึงจะมีชีวิตที่ลำบาก แต่น่าภูมิใจที่เก๋ไม่เคยบ่นว่ารู้สึกเสียใจ

พ่อเคยปลอบ "ถ้ามีเงินเมื่อไหร่...ค่อยมาเรียนก็ได้ เรื่องเรียนไม่มีใครแก่เกินเรียน น้องเก๋ก็เข้าใจ บอกว่า...ไม่เป็นไรพ่อ หนูมีเงินค่อยเรียน กศน.ก็ได้" เก๋เป็นจับกังอยู่ไม่นาน พี่ๆที่ค่ายยกน้ำหนักก็ให้คนมาตามถึงกรุงเทพฯ ให้เก๋มาเรียนหนังสือ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นนักกีฬายกน้ำหนัก คุณพ่อจันทร์แก้ว...ถามลูกว่า เอามั้ย เก๋ตอบตกลง

ชีวิตเก๋เหมือนตกกระไดพลอยโจนต้องมาเล่นกีฬายกน้ำหนัก นึก ถึงวันนั้น รู้สึกสะท้อนใจทุกที ไม่ต้องพูดถึง ว่าจะได้ไปส่งลูกให้ถึงฝั่งฝัน เอาแค่เงินติดตัวมีแค่ 500 บาท ก็ให้ลูกไปทั้งหมด เป็นทั้งค่ารถ ค่ากิน ค่าเล่าเรียนให้เก๋ได้เริ่มอนาคตใหม่

" โรงเรียนสตรีนครสวรรค์ ถึงจะเรียนฟรี ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายจิปาถะ ในช่วงเวลาที่ยาวนานนี้ ต้องยกความดีให้กับคุณตา คุณยาย ที่คอยดูแลน้องเก๋ อย่างใกล้ชิด" ตา ยายอายุมากแล้ว ไม่มีอาชีพมั่นคง นอกจากหาผักปลาไปขาย ถึงจะได้เงินไม่มาก แต่ก็ทำให้ 3 ชีวิตดำเนินต่อไปได้แบบถูลู่ถูกัง ยามมีปัญหา แม้ว่าคุณแม่น้องเก๋เป็นคนไม่ค่อยพูด แต่เก๋ก็ปรึกษาแม่มากกว่าพ่อ

คุณแม่ภาวลีย์ อายุ 53 ปี บอกว่า ปกติลูกสาวคนนี้ เป็นคนหัวอ่อน เชื่อคนง่าย วันนี้ถือว่าประสบความสูงสุดแล้ว แม่ก็คงไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วง "เก๋เป็นหลักของครอบครัวมาจนพ่อแม่ไว้ใจ มั่นใจว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา"

คุณพ่อจันทร์แก้ว บอกอีกว่า เก๋...เป็นคนสุขุมรอบคอบ ทำอะไรคิดหน้าคิดหลัง จะห่วงพ่อแม่น้องก็เรื่องเดียว...มีรายได้พอกินพอใช้หรือเปล่า ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปกี่ปีกี่เดือน เก๋จะถาม

"พ่อเหนื่อยไหมทำงาน...พ่อเลิกอาชีพก่อ สร้างได้ไหม" พ่อก็ว่า "ถ้าพ่อเลิกจะให้พ่อไปทำอะไร จะทำอะไรก็ต้องใช้ทุน เก๋ก็ยังบอก... เอาไหม หนูให้" สองปีที่แล้ว เก๋ใช้เงินสดก้อนใหญ่เกือบ 8 แสนบาท ซื้อบ้านที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เงินก้อนนี้มาจากน้ำพักน้ำแรงที่เหน็ดเหนื่อยกับกีฬายกน้ำหนัก พ่อเห็นลูกซื้อบ้านไปแล้ว คงเหลือเงินไม่มากก็อยากให้ลูกเก็บเงินไว้ก่อน

"คิดว่า ถ้าลงทุนค้าขาย พ่อเคยแต่ทำนากับกรรมกรก่อสร้าง...ไม่มีหัวทางนี้ ส่วนแม่ก็ไปไหนไปกันกับพ่อ ไม่มีหัวการค้าเหมือนกัน" คุยกันไปคุยกันมา ความคิดสุดท้ายจบตรงที่ "ขายลูกชิ้นทอด" ถึงจะต้องใช้เงินทุนหลักหมื่น เก๋ก็ทยอยส่งมาให้ทีละสี่พัน...ห้าพัน ไปซื้อรถพ่วงข้างมอเตอร์ไซค์ ตู้ เตา กระทะทอดลูกชิ้น ได้จนครบ

อาชีพ ใหม่ของคุณพ่อ ทำมาได้กว่า 6 เดือนแล้ว ตะลอนวิ่งขายในตำบลหนองปลิง วันละกว่า 10 กิโลเมตร หักทุน...หักน้ำมันแล้ว เหลือวันละ 200 กว่าบาท รายได้นี้ กับปากท้องคนทั้งครอบครัว จันทร์แก้วบอกว่า ยังไงก็ไม่พอ " ถึงวันนี้...น้องเก๋ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ส่งเงินมาให้ที่บ้านทุกเดือนไม่เคยขาด ถ้าไม่มีเก๋ ครอบครัวเจริญรัตนธารากูล คงไม่ลืมตาอ้าปากได้อย่างวันนี้"

ก่อน เดินทางไปแข่งโอลิมปิกที่ปักกิ่ง น้องเก๋ไม่ได้ตั้งความหวังไว้เกินตัว หรือวางแผนอนาคตที่จะทำอะไรต่อไปหลังจากกลับมา คุณพ่อจันทร์แก้วยังบอกลูกว่า พ่อเองก็ไม่ได้หวังอะไร เพียงแต่อยากให้ลูกได้ไปโอลิมปิกสักครั้ง ช่วงชีวิตที่ดำเนินมาอย่างยากลำบาก แม้ว่าวันนี้ความสำเร็จของน้องเก๋ จะทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป แต่คุณพ่อจันทร์แก้วก็ยืนยันว่า...ไม่มีใครลืมตัว

"เงินรางวัลที่ได้มา คงไม่ทำให้ครอบครัวเรามีชีวิตที่เปลี่ยนไป เคยลำบากทำงานหาเงินอย่างไร ก็คงทำ"



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

1 ความคิดเห็น: