กอไผ่เป็นปริศนาธรรมแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีกอไผ่จะรวมขึ้นกันเป็นกอ รากของมันยึดเกาะซึ่งกันและกัน ปล้องจะประสานและโอบกัน ลำใหญ่อยู่ด้านในลำเล็กอยู่ด้านนอก มีหนาม มีเรียวไผ่เล็กๆ
ล้อมเอาไว้ข้างนอก แล้วยังขยายแผ่ต้นและกอออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง
เหมือนความสามัคคีของมนุษย์ในสังคมเดียวกัน การจะเข้าไปตัดลำไผ่ออกมาจากกอ จะต้องใช้ความพยายามมาก ไม่เหมือนกับต้นไม้อื่นๆ ที่แม้จะบึกบึนแข็งแรงกว่าต้นไผ่ แต่จะโค่นได้ง่าย ส่วนไผ่ต้องริดกิ่งก้านเรียวหนามเข้าไปจึงจะตัดไม้ไผ่ได้ หากดูการขยายของกอไผ่ให้ดี จะเห็นว่ามันจะงอกหน่แล้วกลายเป็นต้นแทงรากออกไป ยึดประสานกันไว้อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง
กอไผ่เป็นปริศนาธรรมให้เห็นถึงความอ่อนซ่อนในความแข็งลักษณะของต้นไผ่เป็นไม้ที่ทนทานไม่หักง่าย แต่ในความแข็งก็มีความอ่อน
คือ ลู่ลำต้น เมื่อมีแรงลมมาปะทะอย่างแรง ยามที่ลมพายุพัดจะมองเห็นยอดไผ่
ล้อและลู่ลม แม้ลมจะโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง ก็มิอาจจะทำให้ต้นไผ่หักลงได้
หากมนุษย์เอาแบบต้นไผ่ คือ มีความอ่อนซ่อนในความแข็ง ก็จะดำรงคุณงาม
ความดีเอาไว้ในตัวได้อย่างมั่นคง แม้จะมีแรงกิเลส ไม่ว่าจากภายนอกภายใน
มากระทบ ก็สามารถต้านทานไว้ได้ การเอาความแข็งประสานกับความแข็งมีแต่จะหักเป็นอันตรายทั้งสองฝ่าย ความอ่อนโยน นุ่มนวล ยึดมั่นในคุณธรรม
ย่อมสามารถเอาชนะมารร้ายทั้งหลายได้ในที่สุด ถึงแม้จะพ่ายแพ้ด้วยถูกแรงกดดันจากอำนาจอันเหนือกว่า ก็จะไม่หักกลาง แต่จะโอนเอนลงขนานดิน
รอเวลาที่จะดีดกลับสู่ที่เดิมในเวลาต่อมา
กอไผ่ปริศนาธรรมของความเมตตาปราณีโดยดูจากหน่ออ่อนที่งอกขึ้นมาเสมอ หน่อจะเป็นอาหารของสัตว์และมนุษย์
เพื่อให้พ้นจากความหิว โดยที่ไผ่ไม่ได้อะไรตอบแทน บางครั้งยังถูกขูดจนกอทรุดก็มี แต่ไผ่ก็ไม่เคยให้โทษ ยังคงมีแต่ความเมตตา ถ้ามนุษย์เอาแบบต้นไผ่ที่ให้หน่อไม้ คือ การแบ่งปันความสุขและสิ่งของ เกื้อกูลกันตามกำลังของตน
ไปยังเพื่อนมนุษย์ ให้ได้รับความสุข โลกก็จะสงบสุข ไม่ต้องมีการแย่งชิงกัน
เพราะเมตตาธรรมจะค้ำจุนโลกเอาไว้
กอไผ่แม้ลำของมันจะถูกโค่นลง ก็มิได้โค่นลงเปล่าๆ ทุกส่วนกลับเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ให้ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย และอื่นๆอีกมากมาย มนุษย์เราจงเอาอย่างต้นไผ่ เมื่อมีชีวิตอยู่ควรทำตัวให้เป็นประโยชน์
กับครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ให้ได้เหมือนอย่างไม้ไผ่
ที่นำไปใช้ประโยขน์ได้อย่างมากมาย ยิ่งตัด ยิ่งฟัน ยิ่งขุด ก็ยิ่งงอก ไม่เคยหยุดชงักหรือหยุดการเจริญเติบโต
แหล่งที่มา ตำราจากลูกศิษย์หลวงปู่ขวัญ
ที่มา พลังจิต.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น