วันนี้วันอาทิตย์ที่นี่ หรือเป็นเวลาเช้าวันจันทร์ที่เมืองไทย
ส่วนใหญ่แล้วผมจะนั่งเขียนบทความเอง
ไม่ได้ตัดข่าวเหมือนดังช่วงกลางสัปดาห์อย่างที่เคย
สำหรับสัปดาห์นี้ มีเรื่องแปลกหน่อย ให้ชื่อเรื่องว่า "เวลาที่หายไป"
เพราะเวลาของผม หายไปหนึ่งชั่วโมงจริง ๆ
ระหว่างที่นั่งทำงานอยู่เมื่อเวลา ตีสอง (2:00 น.) ของวันอาทิตย์ เข็มเวลาของคอมพิวเตอร์ก็เด้งไปที่ ตีสาม (3:00 น) โดยอัตโนมัติ ช่วงเวลา ตีสอง ถึง ตีสาม หายไปอย่างเรียกคืนไม่ได้ และไม่มีมาให้ผมได้ใช้เวลา
เหตุผลทำอย่างนี้ก็เพื่อจะได้ให้เห็นแสงอาทิตย์ในช่วงค่ำได้นานขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น Daylight Saving นั่นเอง เนื่องจากช่วงนี้กำลังจะเข้าฤดูร้อน พระอาทิตย์จะขึ้นเช้ามาก จากตีห้าเป็นตีสี่ และจะตกราว ๆ สองทุ่ม ถ้าปรับเวลาเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงเราก็จะเห็นพระอาทิตย์ตอนหกโมงเช้า และเห็นพระอาทิตย์ตกราว ๆ สามทุ่ม ทำให้ในช่วงหัวค่ำก็ยังมีแสงอาทิตย์อยู่ สามารถเล่นกีฬา ทำกิจกรรม ได้มากมาย รวมทั้งประหยัดไฟฟ้าในครัวเรือนได้อีกด้วย
เสร็จแล้วเดี๋ยวพอเข้าฤดูหนาว เขาก็ปรับกลับมาเหมือนเดิมอีกที
ด้วยการทำอย่างนี้ แม้โดยส่วนตัว ผู้คนจะมีเวลาหายไป แต่สิ่งที่ได้โดยรวมคุ้มกว่ามาก ทั้งทางด้านการประหยัดไฟ ลดอาชญากรรม และ สุขภาพ (ได้รับแสงแดดมากขึ้น และออกกำลังมากขึ้น)
ผู้ที่เสนอ แนวคิดนี้ ก็คือ คุณเบญจามิน แฟรงกิน (คนที่ชักว่าวทดสอบไฟฟ้า คนที่เป็นต้นกำเนิดแนวคิดการบริหารเวลาแบบตั้งเป้าหมาย คนที่หลุมฝังศพของเขาอยู่ในเมืองบอสตั้น ฯลฯ) เขาเสนอแนวคิดนี้ในปี พ.ศ. 2327 โดยชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้เป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่พอสมควรในขณะนั้น เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนาชาวสวนไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ ซ้ำร้ายทำให้การนัดหมายของพวกเขาอาจคลาดเคลื่อน
"ระหว่างการอภิปรายในสภา มีสมาชิกคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย พร้อมยกตัวอย่างว่า ตอนเปลี่ยนจากเวลาถนอมแดดมาเป็นเวลามาตรฐาน (หมุนนาฬิกาถอย 1 ชม.ตอนตีสอง ก่อนจะเข้าหน้าหนาว) ถ้าบังเอิญมีหญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์แฝดเกิดคลอดลูกคนแรกเวลา 01.58 น. คนที่สองคลอดตามคนแรก 10 นาที แต่พอตีสอง เขาลดเวลาเป็นตีหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ลูกคนที่สองก็จะถือว่าเกิดเวลา 01.08 น. กลายเป็นว่าคนน้องกลายเป็นพี่ อาจจะมีผลไปถึงการแบ่งมรดกด้วย"
ก็เป็นเรื่องบังเอิญวุ่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการปรับเวลา
ในประเทศไทย คงไม่ได้ทำอย่างนี้ เพราะว่าเป็นประเทศติดเส้นศูนย์สูตร วันและคืนไม่ต่างกันมาก ทั้งในฤดูหนาวและฤดูร้อน แต่ผู้เขียนเคยได้ยินว่า มีแนวคิดที่จะปรับเวลาให้ตรงกับสิงคโปร์ เพื่อจะได้ ให้ตลาดหุ้นเปิดพร้อมกัน ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ และคงเป็นเรื่องที่ได้ถกเถียงกันอีกแน่นอน
สำหรับช่วงนี้ บอสตั้น กับ ประเทศไทย เวลาจึงห่างกันแค่ 11 ชั่วโมง
(ไม่ใช่แค่กลับวันและคืน แต่เข็มเวลาเหมือนกัน ดังที่แล้วมา)
ข้อมูลจาก
wikipedia
วิชาการ.com
+++++++++++++
หลังจากมานั่งเสียดายเวลาที่หายไปแล้ว
เลยอยากจะจัดตารางเวลาให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นบ้าง
เลยหาข้อมูลเพิ่ม และได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบทความดี ๆ ที่ blog ของ คุณบารมี นวนพรัตน์สกุล
ขออนุญาตตัดตอนเฉพาะเรื่อง "อีก 100 วันผมจะตาย" มาให้อ่านกัน
ใครที่ต้องการอ่านบทความเต็ม เชิญที่ http://baramee.wordpress.com/
=====
"มีคนที่รักผมมากๆ คนหนึ่งมักจะส่งบทความเกี่ยวกับการดูแลตัวเองและสุขภาพมาให้อ่านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารเวลา การใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง การใส่ใจคนรอบข้าง ฯลฯ เพราะส่วนตัวแล้วผมมีปัญหาสุขภาพที่จำเป็นต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าใครก็ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ มิฉะนั้นแล้ว จากคนสุขภาพดีก็จะกลายเป็นคนสุขภาพแย่ได้ในไม่ช้า
บทความล่าสุดที่ผมได้รับมา เป็นบทความของคุณสุทธิชัย หยุ่น ในชื่อ “กาแฟดำ” ซึ่งเขียนลงในนิตยสารชีวจิต ฉบับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ชื่อเรื่องว่า “เมื่อหมอบอกว่า เขามีชีวิตเหลือ 100 วัน”
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงในสหรัฐอเมริกา ที่เกี่ยวพันกับบุคคลหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก แต่วันหนึ่งหมอก็ตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งสมองระยะสุดท้าย และมีเวลาเหลืออีกเพียงไม่เกิน 100 วันเท่านั้น เขาก็ต้องจากลาโลกนี้ไป
ชายผู้นี้ชื่อ ยูจีน โอเคลลี่ อายุเพียง 53 ปีเท่านั้น มีครอบครัวที่อบอุ่น ลูกสาวเพิ่งเรียนชั้นมัธยม แต่เขาแทบไม่เคยใช้เวลากับครอบครัวเลย ไม่ได้ทานข้าวเย็นกับภรรยา ไม่เคยไปร่วมงานโรงเรียนของลูก เพียงเพราะให้ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นและรายได้เพิ่มขึ้น ภายใต้คำพูดที่สวยหรูที่ว่า “ก็เพราะรักครอบครัว”
เมื่อ ยูจีน รู้เช่นนี้ จึงปรับกระบวนชีวิตของเขาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เวลา 100 วันที่เหลืออยู่ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า แม้มันดูเหมือนจะสายเกินไปก็ตาม เขาถึงขั้นเขียนหนังสือเล่มหนึ่งก่อนตายที่ชื่อว่า “Chasing Daylight” เพื่อหวังให้เป็นประโยชน์แก่คนที่ทุ่มเทกับการสร้างเนื้อสร้างตัวและรายได้เพื่อครอบครัว และมุ่งหวังกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันบ้าง
และสิ่งที่ ยูจีน ค้นพบก่อนตายก็คือคำว่า “ปัจจุบัน” เพราะที่ผ่านมาชีวิตของเขามีแต่อดีตและอนาคต แต่ไม่เคยอยู่กับปัจจุบันเลย ไม่เคยใช้ชีวิตกับสิ่งที่มีอยู่ตรงหน้าเลย อย่างไรก็ตาม ก่อนตาย ยูจีน ก็ได้ใช้เวลากับครอบครัวอย่างเต็มที่ เขียนจดหมายบอกลาเพื่อนทุกคน พร้อมทั้งขอบคุณที่เป็นเพื่อนอันแสนดีในเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ ฯลฯ
ผมอ่านบทความนี้จบ ความรู้สึกเดิมๆ ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้รับบทความแนวนี้จากคนที่รักผมมาเสมอ เป็นบทความที่ดึงความสนใจของผมให้กลับมาใส่ใจในตัวเองบ้าง เพราะการใส่ใจในตัวเองย่อมหมายถึงการใส่ใจในคนรอบข้างที่ใกล้ชิดเราเช่นกัน"
นั่นก็คือ “ครอบครัว”
====
พบกันใหม่ สัปดาห์หน้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น