เป็น เรื่องน่ายินดีที่ประ เทศไทยของเรามีราชบัณฑิตอยู่มากมาย หลากหลายสาขาด้วยกัน ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นปูชนียบุคคลที่น่าศึกษาด้วยกันทั้งสิ้น วาไรตี้วันอาทิตย์จะพาไปรู้จักนักปราชญ์แห่งราชบัณฑิตยสถาน...เริ่มกัน ที่ อาจารย์ ประเสริฐ ณ นคร ปรมาจารย์ด้านการอ่านศิลาจารึก
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้หนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการอ่านศิลาจารึก มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง อาทิ การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 100 บทความ
ชีวิตในด้านการศึกษา อ.ประเสริฐ เท้าความให้ฟังว่า เมื่อจบมัธยมฯ 8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผมไม่มีเงินเพื่อที่จะเสียค่าเล่าเรียนให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ปีละ 20 บาท จึงคิดจะไปเป็นครูประชาบาล เงินเดือน 8 บาท เพื่อเก็บเงินมาเรียน ม.ธรรมศาสตร์ แต่บังเอิญ สอบชิงทุน ก.พ.ได้ไปเรียนวิชาเกษตรที่ฟิลิปปินส์จึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีใน สาขาวิศวกรรมการเกษตรจากมหา วิทยาลัยฟิลิปปินส์
จากนั้นกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเกษตร บางเขน สอนทางด้านคำนวณและวิศวกรรมการเกษตร อยู่ 12 ปี สอบได้ทุนไปเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกทางวิชาสถิติและการผสมพันธุ์พืชที่ มหา วิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา
“ผมเป็นหนี้ตาสีตาสาเรื่องทุนเล่าเรียน จึงไม่เคยคิดหนีไปรับเงินเดือนสูง ๆ ที่อื่น และยังสอนหนังสือใช้หนี้ตาสีตาสามาจนทุกวันนี้” เป็นคำกล่าวของอาจารย์ที่วัยย่างเข้าสู่ 89 ปี
เริ่มสนใจด้านโบราณเมื่อครั้งที่ได้ทุนไปเรียนต่อที่คอร์แนล อยากรู้ว่าคนไทยมาจากไหน จึงไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด พบบทความที่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เขียนถึงชาติไทยเอาไว้ เมื่ออ่านดูแล้วรู้สึกว่าน่าจะมีข้อผิดพลาด รวมทั้งกลับมาเมืองไทย สังเกตว่า เมื่อพบศิลาจารึกในเมืองไทยก็มักจะส่งไปให้ เซเดส์ ที่กรุงปารีสอ่านและแปลให้เสมอ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ 70 ปีกว่าแล้ว ถ้าท่านเกิดเป็นอะไรไป นั่นหมายความว่าจะไม่มีใคร อ่านศิลาจารึกของไทยได้เลย จึงคิดว่าคนไทยจะต้องอ่านศิลาจารึกได้ ถ้าไม่มีใครอ่าน ผมคนนี้จะอ่านศิลาจารึกให้ได้ จึงเริ่มศึกษาศิลาจารึกตั้งแต่นั้นมา
เมื่อศึกษาแล้วพบว่า มีการอ่านศิลาจารึกผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับชาติ ไทยอยู่หลายแห่ง รวมทั้งจารึกที่กล่าวถึงสมเด็จพระมหาธรรมราชายกทัพจากสองแควมาไหว้พระพุทธ บาท จึงเขียนจดหมายถึงเซเดส์ เมื่อเซเดส์อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าสิ่งที่ผมอธิบายถูกต้องจึงเห็นควรแก้ไข และยังบอกอีกว่าหากพบที่ผิดพลาดตรงไหนอีกก็ให้แจ้งมา จะได้แก้ไขเพิ่มเติมให้
“รู้สึกทึ่งในตัวเซเดส์ เพราะท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ระดับโลก ถ้าท่านจะไม่ตอบผม ทิ้งจดหมายเสียก็ได้ เพราะตัวผมก็ไม่ได้มีชื่อเสียงในการอ่านศิลาจารึกแต่อย่างใด แต่นี่ท่านยอมรับฟัง แสดงว่าท่านเป็นปราชญ์โดยแท้จริง”
ผมสนใจทางวิทยาศาสตร์ด้วย โดย ขอให้น้องชายที่เรียนอยู่ที่อังกฤษส่งตำรามาให้ ซึ่งได้ส่งเรื่องระเบิดอะตอมมิก เรื่องจักรวาลขยายตัว ตำราทฤษฎีเลขเฉพาะมาให้ จากการศึกษาเรื่องนี้ ทำให้เพื่อน ๆ เมื่อเห็นผม จะล้อว่า “อะตอมมิกบอมส์ มาแล้ว” ผมมานั่งคิดว่าเรามาจากนอกโลกหรืออย่างไร ไม่ได้อยู่ในโลกนี้หรือ เลยท้อถอย ประกอบกับเมื่อเราค้นคว้าเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หนังสือและเครื่องมือก็ไม่มี อีกทั้งเมื่อพูดกับเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ก็มักจะพูดคุยกันไม่รู้เรื่อง บอกว่า ผมมาจากโลกไหน
จึงหันมาค้นคว้าทางภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. 2486 ผมทำเรื่องโคลงนิราศหริภุญชัย และเรื่องนางนพมาศ พ.ศ. 2487 ซึ่งผมได้เลิกค้นคว้าทางภาษาไทยและประวัติศาสตร์ไปเป็นเวลา 16 ปี เพราะถูกปรามว่าการเขียนแก้ไขประวัติศาสตร์อาจทำให้ถูกคว่ำบาตรว่าเป็นลูก ศิษย์คิดล้างครู มาจนถึง พ.ศ. 2503 คุณธนิต อยู่โพธิ์ ขอให้ผมไปสัมมนาโบราณ คดีที่สุโขทัย ผมจึงกลับเข้ามาอยู่ในวงวรรณคดีและประวัติศาสตร์อีกครั้ง และเมื่อหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงขอให้ผมมาสอนวิชาการอ่านศิลาจารึกจนถึงครั้งที่ 3 ผมจึงรับสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบันนี้
“ก่อนหน้าที่จะมาสอนเด็กอ่านศิลาจารึกกันไม่ได้ จึงนึกย้อนไปเมื่อเรียนที่ฟิลิปปินส์ วิชาจิตวิทยา อาจารย์บอกว่า คนเราจะต้องมีความสำเร็จถึงจะทำให้เกิดความสนใจ ผมมานั่งคิดดูว่าไม่ตรงกับทางพุทธศาสนาที่สอนไว้ว่า ต้องมี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา จะสำเร็จได้ต้องมีความสนใจ ถกเถียงกันอยู่นานก็ไม่ได้ข้อยุติ จึงนำแนวคิดนี้มาสอนเด็ก โดยแทนที่จะ เอาศิลาจารึกสันสกฤตที่ยาก ให้เด็กอ่าน ก็เอาหนังสือของประเทศลาวให้อ่าน ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันกับอักษรไทย ผิดกันไปบ้าง เด็กรู้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ อีก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นศัพท์เฉพาะ ซึ่งเด็กสามารถเดาได้ เด็กจะอ่านได้ภายในครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง พวกเขาจะภูมิใจที่สามารถอ่านศิลาจารึกของลาวได้
จากนั้น จะเป็นศิลาจารึกที่ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้อ่านไปตามลำดับขั้น เด็กจะเกิดความภาคภูมิใจ อยากเรียนรู้ พอเอาอักษรขอมภาษาสันสกฤตให้อ่าน เด็กก็อ่านออกได้ นี่คือ เทคนิคในการสอนการอ่านศิลาจารึกของผม”
เนื่องจากผมชอบ การคำนวณ อยู่แล้ว จึงศึกษาทาง ด้านโหราศาสตร์ด้วย เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ มีการดูดวง ชะตาราศีให้กับเพื่อน ๆ จึงมีความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์สุริยยาตร์ สามารถที่จะคำนวณได้โดยดูจากปฏิทินที่ทำขึ้นมา จะบอกว่าทุกปีในวันขึ้นเถลิงศก พ.ศ.นี้ จะตรงกับวันที่เท่าไร นอกจากนั้นยังบอกอีกว่าขึ้นกี่ค่ำ ซึ่งจะทำให้คำนวณได้
ทางด้านดนตรี ศ.ดร. ประเสริฐได้ แต่งเนื้อร้องทั้งเพลงไทยเดิม และเพลงไทยสากลอย่างละไม่ต่ำกว่า 30 เพลง ในจำนวนนี้ มีทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ 5 เพลง คือ ใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเกษตร ศาสตร์ เพลงที่ 3 และ 4 แปลมาจากเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษแบบวรรคต่อวรรค เพื่อรักษาพระราชดำริไว้ รวมทั้งได้แต่งทำนองเพลงสดุดีพระเกียรติ บรรจุเนื้อร้องภาษาอังกฤษของคุณพระช่วงเกษตรฯ โดยมีครูอวบ เหมะรัชตะ เป็นผู้ขัดเกลาทำนองเพลง และได้แปลเนื้อร้องเป็นภาษาไทยไว้ด้วย
“ผมมักจะบอกนักศึกษาอยู่เสมอว่า คนไทยถ้าอยาก จะไปอยู่แนวหน้าสาขาใดได้ ทั้งหมด แต่คนไทยไม่เอาจริง เพราะถ้าเอาจริงก็จะต้องไปอยู่แนวหน้าได้ ขอให้เอาจริง ต้องได้แน่ ดูอย่างผม อยู่ทางคำนวณ ทางสถิติ แต่ตอนนี้ทุกคนคิดอย่างเดียวกันว่า ผมเป็นอาจารย์ เป็นครูทางภาษาไทย ได้เป็นปูชนียบุคคลทางครูภาษาไทย ได้เป็นนักเขียนอาวุโสดีเด่นของปี และนักแปลอาวุโสดีเด่น
แต่ถ้าจะให้ผมวาดภาพให้ คงต้องแสดงความเสียใจด้วย เพราะสมัยเรียนผมวาดภาพคะแนนเต็ม 10 ได้ 2 นี่เป็นเพราะว่า คนเรามีขีดจำกัดเหมือนกัน ถ้าตอนนี้ให้ผมไปวาดรูปก็คงจะยังได้ 2 คะแนน อยู่ดี” ท่านอาจารย์กล่าวอย่างมีอารมณ์ขันทิ้งท้าย
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร คงเป็นตัวอย่างที่ดีได้กับประโยคที่ว่า “รู้อะไรให้เชี่ยวชาญเถิด จะเกิดผล”. จุฑานันทน์ บุญทราหาญ |
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ
ตอบลบ