นักประดิษฐ์ชาวบ้าน นักวิทยาศาสตร์ ป.4 หรือใครจะให้นิยามอะไรก็ตาม แต่คนในแถบ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จะคุ้นตากันดีกับชายชราร่างสูงใหญ่วัยเกือบ 80 ปี ที่ผมเผ้ามีแต่จะลดน้อยถอยลง ฟันฟางก็หักหมดปาก วันๆ ง่วนอยู่กับกองเศษวัสดุเหลือใช้มากมายที่คนนำไปทิ้งขว้าง เศษขยะต่างๆ เหล่านี้ ชายชราคนเดียวกันกลับมองว่าของทุกอย่างล้วน มีประโยชน์ทุกชิ้นไม่ควรจะทิ้งอย่างไร้ค่า ฉะนั้น บ้านไม้สองชั้นทั้งหลังจึงเต็มไปด้วยเศษวัสดุสิ่งของมากมายหลากหลายชนิดที่แออัดยัดเยียดอยู่ในทุกพื้นที่ของบริเวณบ้าน
ชายชราที่กำลังเอ่ยถึงคนนี้ มีชื่อว่า "ลุงเหลือ เปรมปราคิน" อดีตลูกจ้างประจำของกรมชลประทาน ที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุ 22 ปี จนกระทั่งถึงวัย ปลดเกษียณ
"ตอนเด็กๆ ผมชอบแกะนู่นแกะนี่ ชอบสงสัยว่าเครื่องยนต์กลไกมันเป็นอย่างไร และผมก็เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเองตลอด ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด คอมพิวเตอร์ เครื่องยนต์กลไก การออกแบบโครง สร้างต่างๆ รีโมตคอนโทรล เครื่องไฮดรอลิกส์ ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง และอื่นๆ อีกทุกชนิด ทุกวันนี้ผมก็ยังศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่ผมยังไม่รู้อีกมากมาย ผมว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่"
สิ่งประดิษฐ์มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น หมวกกันน็อคที่สามารถฟังเพลงได้ เครื่องตัดหญ้าแบบใช้รีโมตคอนโทรล เครื่องใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องบินบังคับวิทยุ แม้กระทั่งเครื่องบินเล็กที่ใช้ขับได้จริง สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ล้วนเกิดจากเศษวัสดุเหลือใช้ทั้งนั้น
แต่ในจำนวนสิ่งประดิษฐ์มากมายหลากหลายที่ผ่านมันสมอง ผ่านหัวคิดสร้างสรรค์ จินตนาการของนักประดิษฐ์ชาวบ้านๆ แบบลุงเหลือ ก็คงไม่มีสิ่งประดิษฐ์ชิ้นไหนน่าทึ่งเท่ากับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ นั่นก็คือ "จานดาวเทียมกระทะเหล็ก" ของลุงเหลือนั่นเอง
"ช่วงที่มีจานดาวเทียมเข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นมาที่สถานีจานดาวเทียมที่ศรีราชา กว้าง 29 เมตร หนัก 200 กว่าตัน ลงทุนไปทั้งหมด 141 ล้านบาท ผมก็สนใจ และพยายามศึกษาค้นคว้ามาตลอด โดยหาความรู้จากหนังสือทั่วไปทั้งอเมริกาและอังกฤษ ผมอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกหรอก แต่เราก็ใช้ตัวช่วยให้คอมพิวเตอร์ทำการแปลให้ ผมก็ศึกษาค้นคว้ามาเรื่อยๆ จนจานดาวเทียมเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ราคาก็เริ่มลดลงประมาณ 38,000 บาท แต่เงินเดือนของผมไม่กี่บาท ผมจึงรวบรวมเงินเก็บเท่าที่มีไปขอซื้อจานดาวเทียม แต่ขอซื้อเฉพาะจานอย่างเดียวเขาไม่ให้ ผมก็เลยคิดค้นทำเองเลย โดยทดลองเอาสิ่งของใกล้ตัว เช่น เหล็กอะลูมิเนียมตู้กับข้าว กระทะที่เราใช้ทำกับข้าว โดยคิดว่าอะไรที่มันสะท้อนคลื่นได้นั้นก็สามารถทำได้หมด"
จานดาวเทียมกระทะเหล็กของลุงเหลือ จึงถูกนำไปติดตั้งตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งใกล้และไกล เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากจานกระทะเหล็กของลุงเหลือ ด้วยความคิดที่ว่า ความรู้ไม่ควรถูกปิดกั้น แต่ควรจะกระจายไปทุกที่ทุกตำบล
เพราะเป็นคนที่เรียนรู้ทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา ในบั้นปลายชีวิตของลุงเหลือจึงคิดว่าทำอย่างไรจึงจะให้ได้งานมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเวลาที่เหลืออยู่ก็มีแต่ถดถอยลงไปทุกขณะ ลุงเหลือจึงใช้เวลาอย่างคุ้มค่า และเป็นประโยชน์มากที่สุด
วันเวลาในช่วงกลางวันในแต่ละวัน ถ้าไม่หมดไปกับการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ ก็จะมีคนที่สนใจเรื่องจานดาวเทียมทั้งใกล้และไกลเดินทางมาขอคำแนะนำบ้าง หรือบางวันลุงเหลือก็จะเดินทางไปตามโรงเรียนต่างๆ ที่เชิญมา ให้ไปสอนให้กับครู อาจารย์ นักเรียน ไม่เว้นแม้แต่สอนนักการภารโรงเกี่ยวกับการบำรุงรักษา ส่วนในช่วงกลางคืนลุงเหลือก็ไม่ได้ทิ้งเวลาให้เปล่าประโยชน์ ศึกษาค้นคว้าในอินเตอร์เน็ต บางทีก็เขียนโปรแกรมออโต้แวร์ เพื่อนำมาสร้างสื่อการเรียนการสอนบันทึกลงแผ่นซีดีแจกจ่ายไปตามโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย
"ผมไม่คิดที่จะทำขาย หรือจดลิขสิทธิ์ ผมอยากให้ความรู้กระจายไปในทุกพื้นที่ ดังนั้น ผมถือว่ามันเป็นกุศลที่ผมได้มอบให้กับคนอื่น อันดับแรกคือ ร่างกายผมไม่ป่วยยังแข็งแรงดี สองผมความจำยังดียังทำประโยชน์ได้ และสามคือ ผมพออยู่พอกินไม่ได้อยากร่ำรวยอะไร ฉะนั้น เรื่องเงินเรื่องเล็ก ถ้าตัวเราอยู่สุขสบายแล้วล่ะก็ วิธีคิดเหล่านี้ผมได้มาจากพระราชดำรัสของในหลวง คือคิดอะไรให้มันง่ายๆ เข้าไว้อย่าสลับซับซ้อน คนอื่นเขาจะได้ทำตามได้"
เพราะเหตุใดชายชราวัยใกล้ 80 ปี และเป็นนักประดิษฐ์ฝีมือชาวบ้าน จึงสามารถเรียนรู้ สร้างสรรค์ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ไว้อย่างมากมาย ถ้าหากไม่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของการเรียนรู้ตลอดเวลา ที่สำคัญก็คือว่าเมื่อเรียนรู้แล้ว ลุงเหลือเอาความรู้ของตนเองไปทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมต่อไปอีก ในยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้รับมากกว่าการเป็นผู้ให้ ลุงเหลืออาจจะมีคำตอบให้กับการนำความรู้เพื่อไปสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับผู้อื่นอีกมากมาย เพราะการเป็นผู้ให้ย่อมมีความหมายต่อการเป็นผู้รับอย่างแน่นอน
ที่มา มติชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น