วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552

ถึงจะเดินถอยหลังก็ยังต้องออกแรง





"นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ที่ผมเคยอ่าน
มีตัวละครที่เป็นตัวร้ายฝีมือสูงส่ง
ทำเรื่องชั่วทุกอย่าง แย่งสุดยอดคัมภีร์แห่งยุทธจักร"


เพื่อจะได้เป็นจอมยุทธอันดับหนึ่งแห่งบู๊ลิ้ม
เมื่อได้คัมภีร์มาก็ฝึกฝนอย่างหนักหน่วง
จนกลายเป็นยอดฝีมือฝ่ายอธรรม

ฝีมือร้ายกาจจนในช่วงต้นพระเอกมักต่อกรด้วยมิได้
คิด ๆ ดูก็น่าขำ คนร้ายในนิยายช่างขยันขันแข็งเสียนี่กระไร ไม่ท้อถอย
ฝีกฝนลมปรานวิชามารทุกวี่ทุกวัน
ไม่ค่อยเห็นคนเลวที่ขี้เกียจ
ตื่นสาย อู้การฝึกวิชา

พูดง่าย ๆ คือนิสัยไม่น่าคบ
พฤติกรรมอาจชั่วร้าย แต่เรื่องความขยันหมั่นเพียรไม่เป็นรองใคร !

มองในอีกมุมหนึ่งคือ แม้แต่คิดจะชั่ว ก็ยังต้องขยัน ยิ่งคิดจะชั่วมาก ก็ยิ่งต้อง ”ขยัน"มาก
ในนวนิยายเรื่อง อุ้ยเซี่ยวป้อ ของกิมย้ง
พระเอกเป็นคนขี้เกียจมาก ไม่ชอบฝึกวิชาการต่อสู้

อาจารย์คนหนึ่งของเขาจึงสอนวิชา “หนี” ให้เขา
หลักวิชานี้คือ ไม่ว่าคนที่จะมาทำร้าย
มีฝีมือเก่งแค่ไหน ผู้ฝึกวิชาจะหนีพ้นได้เสมอ
อย่างไรก็ตาม
พระเอกซึ่งเป็นคนขี้เกียจก็ยังต้อง”ฝึกฝน”วิชานั้น
ผู้คนในโลกของความจริงไม่ค่อยขยันเช่นนั้น

โดยเฉพาะในโลกที่ “ความสำเร็จของชีวิต” แปลว่า “ความสบาย”

แต่
"ความสบายกับความขี้เกียจเป็นคนละเรื่องกัน "
"หลายคนอยากสบายโดยไม่ต้องทำอะไรเลย
ทำงานชิ้นสองชิ้นก็บ่นว่าเหนื่อย "


"ทำงานเกินเวลาสักนาที ก็บอกว่าชีวิตไม่ยุติธรรม "


"ทำงานในสายที่ไม่เคยลอง ก็บ่นว่าอยากลาออก "

กลายเป็นวัฒนธรรมขี้บ่นที่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก

ค่านิยมในโลกปัจจุบันคือ ทำงานน้อยได้เงินมาก
ได้กำไรเร็ว จัดเป็นหลักการตลาดชั้นเลิศ

"ลงทุนลงแรงต่ำ ได้รับค่าตอบแทนสูง
ลงทุนวันนี้ ได้กำไรพรุ่งนี้ ถือว่าเก่ง
ลงทุนเช้า ได้เงินบ่าย ถือว่าเยี่ยม "

การตีเหล็กให้เป็นเครื่องมือใช้แต่ละชิ้น ต้องใช้ความร้อนสูงจัด
ผ่านการตีจนเป็นรูปเป็นร่างที่ต้องการ แล้วจึงปล่อยให้เย็นตัวลง
กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีค่า

"ความสบายที่ได้จากความลำบากนั้น
จึงมีคุณค่ากว่าความสบายที่เดินทางมาถึงมือง่าย ๆ "

วิลเลียม เจมส์ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่แห่งอเมริกาในรอยต่อศตวรรษที่ 19-20
บอกว่า
" มนุษย์ส่วนใหญ่ถูกโปรแกรมให้รู้สึกเหนื่อยเมื่อถึงเวลาเหนื่อย
มนุษย์เราใช้พลังน้อยกว่าที่มีอยู่จริง "
เขาบอกว่า ...
หากคุณผลักความเหนื่อยออกไปอีกสักนิด
คุณจะได้งานมากกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ

แน่ละ ความหมายของวิลเลียม เจมส์ มิใช่ต้องการให้คนทำงานจนตายคาที่
แต่ให้ลองทดสอบดูว่า บางครั้งการยอมแพ้เกิดจากใจไม่สู้ ไม่ใช่กายไม่พร้อม

เราคงไม่ต้องขยันจนถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาล
ซึ่งอาจมากเกินความพอดี แต่คำถามคือ
แค่ไหนคือความพอดี
เท่าไหร่คือความเหมาะสม

บางคนทำงานได้มากมายกว่าจะเหนื่อย
บางคนทำนิดเดียวก็ “รู้สึก” เหนื่อยแล้ว
บางคนไม่ทำอะไรเลย ก็ยังเหนื่อย

ผมไม่เคยเห็นใครที่ขยันแล้วชีวิตฉิบหาย
ตรงกันข้าม คนที่ชีวิตพังทลายส่วนใหญ่มาจากความขี้เกียจ ความเขลา และความโลภ
ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ต้องลงแรง

ถึงจะเอนกายนอนพัก ก็ยังต้องออกแรงเขยื้อนกาย
ถึงจะเดินถอยหลัง ก็ยังต้องออกแรง
จะยกธงขาวยอมแพ้ ก็ยังต้องออกแรงยกธง
ที่มา :หนังสือ อาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก ของ วินทร์ เลียววาริณ

2 ความคิดเห็น:

  1. ภาพประกอบน่ารักจังเลยค่ะ...

    ..................

    แค่ไหนคือความพอดี
    เท่าไหร่คือความเหมาะสม

    ชอบ ๆ ๆ ...ประโยคนี้
    ไม่มีใครที่ขยันแล้วชีวิตฉิบหาย
    ตรงกันข้าม คนที่ชีวิตพังทลายส่วนใหญ่มาจากความขี้เกียจ ความเขลา และความโลภ
    ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ต้องลงแรง

    ตอบลบ
  2. หนู copy เองกะมือเลยล่ะ :P
    --------------------
    ชอบ..เหมือนกันค่ะ ประโยคกินหัวใจดีอ่ะ
    ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ใจ...ขยันพอดี ลงแรงพอเหมาะ
    ลงแรงมากไป..ก็เหนื่อย
    หรือน้อยไป...ก็อาจไม่สำเร็จ

    แต่ก็ดีกว่าไม่(คิด)ทำอะไรเลยเนอะๆ :)

    ตอบลบ