วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

บนเส้นทางสู่สุขภาพดีถ้วนหน้า

สวัสดีค่ะ พี่น้อง ผองเพื่อนชาวชุมชนจิตใจดีที่รักทุกท่าน


ห่างหายไปนานเลยค่ะ จากภาระงาน (รับการประเมินผลงาน 4 เดือน) และภาระการดูแลครอบครัว...
(คุณแม่ไม่สบายผ่าตัดนิ่วในท่อไต ตอนนี้แข็งแรงดีแล้วค่ะ )


เมื่อวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมสุขภาพชุมชน 2552 ณ อิมแพ็คคอนเวนชั่นเซนเตอร์ เมืองทองธานี นนทบุรี

จัดโดย ความร่วมมือของหลายองค์กรด้านการสาธารณสุข ซึ่งมีองค์กรสนับสนุนหลัก ได้แก่
สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส. )
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.)
สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนองค์กรภาคีร่วมจัด 15 องค์กร จะไม่ขอกล่าวในที่นี้นะคะ

แต่ก็ขอขอบคุณทุกองค์กรค่ะที่มีงานดี ๆ แบบนี้ให้ได้เรียนรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ
ขอบคุณหัวหน้าสถานีอนามัย.. ที่มีคำสั่ง (ด่วน) ให้ได้ไปร่วมงาน....

ในงานนี้มีหลักคิดการดำเนินโครงการที่น่าสนใจ คือ การแปลแนวคิดหลักการเชิงนามธรรมของบริการปฐมภูมิเป็นปฏิบัติการเชิงรูปธรรม มีเวทีการเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายและนำเสนอตัวอย่างรูปธรรมในการดูแลสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การดูแลผู้ป่วยและการทำงานที่ดีกับชุมชน โดยรูปธรรมเหล่านี้จะเป็น "ตัวนำ" แนวคิด หรือเป็นตัวแบบ (Examplars) สำหรับการเรียนรู้แนวคิดสำคัญ (Learnable key concepts) ของบริการปฐมภูมิ

ที่สำคัญรูปธรรมเหล่านี้จะเป็นทั้งตัวอย่างของการแปลแนวคิดเป็นปฏิบัติการในบริบทที่แตกต่างหลากหลาย และเป็นแรงบันดาลใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพในชุมชน เห็นว่าการสร้างระบบบริการปฐมภูมิมีลักษณะเด่นของการดูแลแบบองค์รวม ผสมผสาน ต่อเนื่อง และใช้ชุมชนเป็นฐานนั้นเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด



หลังจากลงทะเบียนแล้ว ขึ้นบันไดเลื่อนมาจะเห็นป้ายมหกรรมสุขภาพชุมชนด้านหลัง..จึงขอถ่ายภาพไว้ก่อน



บู๊ทเครือข่ายหมออนามัย มีชมรมหมออนามัย วารสารหมออนามัย .น้องเค้าโพสต์ท่าน่ารักดี..(แอบถ่ายอ่ะ..)


มีภาพแสดงการให้บริการในชุมชมที่น่าสนใจหลายภาพ
..หมออนามัย..หัวใจไร้พรมแดน....


การดูแลสุขภาพแบบใกล้บ้าน ใกล้ใจ


บนเส้นทางสู่สุขภาพดีถ้วนหน้า ..สร้างคุณค่าความเป็นคน สร้างสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง
เป็นไฮไลน์ของงานทีเดียว มีพิธิเปิดอลังการ..ด้วยขบวนแห่กองยาวและเปิดภาพ สองนายแพทย์แกนนำผู้บุกเบิกงานสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพในประเทศไทย




ภาพนพ. สงวน นิตยารัมย์พงศ์ และนพ. เสม พริ้งพวงแก้ว สองนายแพทย์แกนนำผู้บุกเบิกงานการดูแลสุขภาพในประเทศไทย

บนผนังประกอบด้วยภาพการดูแลสุขภาพเล็ก ๆ ที่ส่งมาจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเกือบหมื่นภาพ



น้อง ๆ จากโรงพยาบาลไหนไม่รู้ ภาพสวย แสงให้ จึงนำเสนอ....(แอบถ่าย..อีกละ)





บนเส้นทางสู่สุขภาพดีถ้วนหน้า


เป็นเรื่องราวของงานสาธารณสุขในประเทศไทย ..น่าสนใจทีเดียว จึงตั้งใจคัดลอกมาฝาก


อ่านแล้วภาคภูมิใจมาก..ที่ได้เกิดเป็นคนไทยและได้เป็นคนสาธารณสุข ..จึงอยากแบ่งปัน .....ค่ะ


บนเส้นทางสู่สุขภาพดีถ้วนหน้า


พ. ศ. 2205
บาทหลวงโธมาส วาลกัวเนารา (Thomas Valguanera) ชาวอิตาเลื่ยน มาเริ่มงานสุขาภิบาลเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยวางระบบส่งน้ำจากทะเลชุบศรเข้ามาใช้ในตัวเมืองลพบุรี

พ. ศ. 2331
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม เปลี่ยนชื่อเป็นวัดเชตุพนวิมลมังคลาวาส ทรงให้ทำศาลาราย ตั้งตำรายาและฤาษีดัดตนไว้เป็นทาน

พ. ศ. 2378
หมอบรัดเลย์ ได้ริเริ่มเปิดโอสถศาลาขึ้นในปีแรกที่เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ในบริเวณตลาดสำเพ็ง ใกล้วัดเกาะซี่งเป็นแหล่งชุมชนแออัด ชุกชุมด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

พ. ศ. 2373
หมอบรัดเลย์ ได้ริเริ่มงานป้องกันโรคติดต่อขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำการปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษเข้ามาใช้

พ. ศ. 2392
หมอเฮาน์ มีบทบาทสำคัญในการควบคุมอหิวาห์ตกโรค ในการระบาดทั่วโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งมีคนตายทั้งในกทม. และหัวเมืองใกล้เคียง กว่า 40,000 คน การใช้ทิงเจอร์การบูรผสมน้ำให้ผู้ป่วยดื่มบ่อย ๆ ทำให้ไม่มีการตายอีก

พ. ศ. 2404
นพ. เจมส์ ดับบลิว แม็คเคน (Jams W. McKean) ได้ตั้งสถานพยาบาลโรคเรื้อนขึ้นที่เชียงใหม่เป็นแห่งแรกในประเทศไทย มีการฉีดน้ำมันกระเบาบำบัดผู้ป่วย ภายหลังการค้นพบวิธีผลิตเพียง 9 ปี

พ. ศ. 2423
โรงพยาบาลแห่งแรกถูกสร้างขึ้นที่ จ. เพชรบุรี

พ. ศ. 2431
โรงพยาบาลศิริราช เปิดให้บริการในวันที่ 26 เมษายน 2431 และเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2431


พ. ศ. 2432
กรมพยาบาลได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงธรรมการ เริ่มมีแพทย์ประจำเมืองขึ้นบางแห่ง มีการนำยาตำราหลวง ออกจำหน่ายในราคาถูก และตั้งกองแพทย์ไปป้องกันโรคระบาด

พ. ศ. 2432 (พฤษภาคม)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น ณ โรงพยาบาลศิริราช ใช้เวลาเรียน 3 ปี จบแล้วได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ ซึ่งนักเรียนแพทย์รุ่นแรกมี 15 คน

พ. ศ. 2439
สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลขึ้นในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล เป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย

พ. ศ. 2456
มีการขยายและจัดตั้ง “โอสถศาลา” หรือโอสถสถานขึ้นในบางจังหวัด

พ. ศ. 2461 (27 พฤศจิกายน)
ประกาศตั้งกรมสาธารณสุข โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีในสังกัดกระทรวงมหาดไทย

พ. ศ. 2470
เปิดอบรมหมอตำแยครั้งแรกที่วชิรพยาบาล

พ. ศ. 2474
กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งโรงเรียนอบรมผดุงครรภ์ชั้นสองขึ้นในวชิรพยาบาล นับเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรกของประเทศไทย

พ. ศ. 2475
โอสถศาลา หรือโอสถสถาน ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” โดย “สุขศาลาชั้นหนึ่ง” มีแพทย์ไปประจำ ส่วน “สุขศาลาชั้นสอง” คือไม่มีแพทย์ไปประจำ




พ. ศ. 2495 – พ. ศ. 2500
นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ร่วมกับอธิบดีกรมการแพทย์ในการผลักดันให้มีการก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย รวมทั้งวิทยาลัยพยาบาล และโรงเรียนเทคนิคการแพทย์ขึ้นอีกด้วย



ช่วงหลัง ๆ จดไม่ทัน เลยอาศัยถ่ายรูปมาให้อ่าน แบบนี้ค่ะ... อิ อิ


พ. ศ. 2517
“ศูนย์การแพทย์อนามัยชนบท” กลายเป็น “ศูนย์การแพทย์และอนามัย”

พ. ศ. 2518
โรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอ ถูกสร้างขึ้นครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและมีโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เรียกย่อ ๆ ว่า “โครงการ สปน.”

พ. ศ. 2519
กระทรวงสาธารณสุข โดยกองอนามัยครอบครัว สำรวจและอบรมหมอตำแยทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก และองค์การสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ ในระหว่างปี 2519 – 2528 มีหมอตำแยได้รับการอบรมจำนวน 12,864 คน

พ. ศ. 2520
“ศูนย์การแพทย์และอนามัย” ได้รับการยกระดับเป็น “โรงพยาบาลอำเภอ”

พ. ศ. 2520 - 2525
เริ่มดำเนินการสาธารณสุขมูลฐาน ตั้งแต่การพัฒนาการสาธารณสุขฉบับที่ 4 (พ. ศ. 2520 – 2525) โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เทคโนโลยีที่เหมาะสม การประสานระหว่างสาขาและการปรับระบบบริการสาธารณสุข


พ. ศ. 2525
โรงพยาบาลอำเภอ เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลชุมชน”

พ. ศ. 2526
เริ่มโครงการบัตรสุขภาพ โดยใช้กลไกด้านการคลังสุขภาพชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอนามัยแม่และเด็กเป็นหลัก

พ. ศ. 2527
มีการนำสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง และเริ่มสนับสนุนการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน




พ. ศ. 2540
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้แนวคิดการดูแลสุขภาพปฐมภูมิได้รับความสำคัญ เพราะเป็นบริการสุขภาพที่ต้นทุนต่ำและชาวบ้านเข้าถึงบริการได้ง่าย

พ. ศ. 2542
พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปี 2542 กำหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจบริการของรัฐระดับต่าง ๆ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับ (อบต. เทศบาล อบจ.)

พ. ศ. 2544
ก่อเกิด สสส. หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และมีการเริ่มดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้นโยบายรัฐบาลที่เรียกว่า “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค”

พ. ศ. 2545
ร่างพระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร นำไปสู่การจัดตั้ง “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)”






จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีแนวคิดการพัฒนายกระดับสถานีอนามัยให้เป็น ศูนย์สุขภาพชุมชน (Primary Care Unit หรือเรียกย่อ ๆ ว่า PCU) และศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพในทุกระดับ และทุกสภาวะการเจ็บป่วย


มีการพัฒนามาตรฐานคุณภาพบริการด้านการรักษาพยาบาลในงานต่าง ๆ ตามกรอบอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ (มาตลอด) จึงมีแนวคิดเรื่องของชุมชนเข้มแข็ง และการพึ่งคนเอง ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มุมมองกำลังคนด้านสาธารณสุข จึงหมายถึง ทุกคนค่ะ เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง (จบห้วน ๆ แบบนี้แหละ..อิ อิ ..)


พบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ ถอดบทเรียนจากนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ จากสถานีอนามัย และโรงพยาบาล ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่นำเสนอในบู๊ทต่าง ๆ มี 160 เรื่องนวัตกรรม ได้แนวคิดนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ มาใช้ในงาน ในที่ทำงานมากมายทีเดียวเชียวล่ะ...

ขอบคุณค่ะที่ติดตามอ่านจนจบ


....ขอบคุณค่า..า า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น